กัณฑ์ที่ ๘. กัณฑ์กุมาร
พระมหาจารุวัฒน์ จรณธมฺโม
วัดบางรักใหญ่
กัณฑ์กุมาร ว่าด้วยเรื่อง เฒ่าชูชกเดินทางไปถึงอาศรมของพระเวสสันดร เป็นช่วงที่พระนางมัทรีไปป่าหาผลไม้ จึงรีบเข้าไปขอพระชาลี และพระกัณหา ทั้ง ๒ กุมารได้ยินแล้วพากันตกใจกลัว หนีไปซ่อนตัวอยู่ในสระบัวบังกายไว้ พระองค์ได้ขอร้องให้ทั้งสองออกมา แล้วเฒ่าชูชกก็นำทั้งสองพระองค์ไป
อานิสงส์กัณฑ์กุมาร ผู้ใดบูชากัณฑ์กุมาร ย่อมประสบความสำเร็จในสิ่งที่ปรารถนา ครั้นตายไปได้เกิดในฉกามาพจรสวรรค์ ในสมัยพระศรีอาริยเมตไตรยมาอุบัติ ก็จะได้พบศาสนาของพระองค์จะได้ถือปฏิสนธิในตระกูลกษัตริย์ ตลอดจนได้สดับฟังพระสัทธรรมเทศนาของพระองค์ แล้วบรรลุพระอรหันตผล พร้อมปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ ด้วยบุญราศีที่ได้อบรมไว้ฯ
ข้อคิดประจำกัณฑ์
๑.ความเป็นผู้รู้จักกาลเทศะ ไม่ผลีผลามเข้าไปขอ รอจนพระมัทรีเข้าป่าจึงเข้าเฝ้า เพื่อของสองกุมาร เป็นเหตุให้ชูชกประสบผลสำเร็จใจสิ่งที่ตนปรารถนา ดังภาษิตโบราณว่า “ช้า ๆ จะได้พร้าเล่มงาม ด่วนได้สามผลามมักพลิกแพลง” ช้าเป็นการนานเป็นคุณ ผู้รู้จักโอกาส มีมารยาท กล้าหาญ ใจเย็น เป็นสำเร็จ
๒.พ่อแม่ทุกคนรักลูกเหมือนกัน แต่เป็นห่วงไม่เท่ากัน ห่วงหญิงมากกว่าห่วงชาย เพราะท่านเปรียบไว้ว่า “ลูกหญิงเหมือนข้าวสาร ลูกชายเหมือนข้าวเปลือก”
๓.สติ เตสัง นิวารณัง สติเป็นเครื่องป้องกันอันตรายทั้งปวงได้ ขันติ สาหสวารณา ขันติป้องกันความหุนหันพลันแล่นได้ เป็นเหตุให้พระเวสสันดรไม่ประหารชูชกด้วยพระขรรค์ เมื่อถูกชูชกประนาม
๔.วิสัยหญิงนั้น แม้จะมากอยู่ด้วยเมตตากรุณา ชอบปลดเปลื้องทุกข์แก่ผู้อื่นก็จริงอยู่ แต่เว้นอย่างเดียว ที่ผู้หญิงนั้นไม่มีวันจะสละสิ่งนั้น คือ “ลูก”